
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดขึ้นเมื่อกระเพาะปัสสาวะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดกระเพาะปัสสาวะแบบน่ารำคาญ ปัสสาวะไม่สุด ฯลฯ และอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้หากไม่ได้รับการรักษา เพราะการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังไตได้
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยากับยาบางชนิดหรือการฉายรังสี การมีสุขอนามัยที่ไม่ดี การใช้สายสวนในระยะยาว ฯลฯ นอกจากนี้ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบยังสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุของการติดเชื้อ การรักษาตามปกติสำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียคือการใช้ยาปฏิชีวนะ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอาการอะไร
อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่
- ปัสสาวะไม่ออก
- ปวดหรือรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย ปริมาณน้อย รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- มีเลือดในปัสสาวะ
- ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง
- รู้สึกไม่สบายบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดหน่วงบริเวณท้องใต้สะดือ
- มีไข้ต่ำๆ เป็นต้น
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากอะไร
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยทั่วไปมักเกิดจาก
แบคทีเรียภายนอกร่างกายเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะและเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรีย Escherichia coli (E. coli) แต่แบคทีเรียชนิดอื่นก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดขึ้นในผู้หญิงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ในผู้ที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากบริเวณอวัยวะเพศหญิงมักมีแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
แม้ว่าการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ก็ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เช่นกัน เช่น การใช้ยาบางชนิด การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน การใช้สายสวนปัสสาวะในระยะยาว การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด บางครั้งอาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต หรืออาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัย
โดยผู้หญิงมักพบความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสที่แบคทีเรียจะเดินทางไปถึงกระเพาะปัสสาวะได้มากกว่า
บางคนมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะซ้ำ ๆ มากกว่าคนอื่น โดยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้โอกาสติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น ได้แก่
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
- การมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ แบคทีเรียสามารถถูกผลักเข้าไปในท่อปัสสาวะได้
- การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณไม่ดี ทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่ถูกวิธี การสวนล้างช่องคลอด
- หมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือนมักจะนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- กำลังตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
- การมีภาวะบางอย่าง เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากโต
- ภาวะที่ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไป เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อเอชไอวี การรักษามะเร็ง
- การใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานานในผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังหรือในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียและเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะเสียหายได้
เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะสามารถลุกลามจนเกิดโรคร้ายแรงได้
ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยยาที่เหมาะสมและทันท่วงที การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะจะไม่ค่อยทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามหากไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- กรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายอย่างถาวร
- ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
การรักษา โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบเบื้องต้นด้วยตัวเอง
อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่รุนแรงมักจะหายได้เองหลังจากผ่านไปสองสามวัน โดยสามารถบรรเทาอาการได้จาก
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน
- ดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยเจือจาง และขจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
- วางขวดน้ำร้อนอุ่นบนหน้าท้องส่วนล่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง
- พักผ่อนให้มากขึ้น
- งดคาเฟอีน เช่น ในชาและกาแฟ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด (เช่น น้ำอัดลม) เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
หากอาการ ไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปสองหรือสามวัน หรือดูเหมือนจะแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ของคุณ หรือเภสัชกรซึ่งจะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดการติดเชื้อ ไม่ควรซื้อยาจากร้านยาที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่ได้อาจไม่ตรงกับโรค ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
การป้องกัน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เราสามารถป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้โดย
- ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะน้ำเปล่า โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ลิตรต่อวันในผู้ใหญ่
- ปัสสาวะบ่อยๆ หากรู้สึกอยากปัสสาวะ ให้ไปปัสสาวะทันที ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
- มีสุขอนามัยที่ดีโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังหลังจากถ่ายอุจจาระ เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียในบริเวณทวารหนักแพร่กระจายไปยังช่องคลอดและท่อปัสสาวะ และใช้สบู่ทำความสะอาดที่ไม่แรงเกินไป เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้
- ไม่แช่ในอ่างอาบน้ำ การแช่ในอ่างอาบน้ำเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
การรับประทานสารสกัดจากแครนเบอร์รี่ (Cranberry)
- แครนเบอร์รี่ มีสารโพรแอนโธไซยานิดินช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และมีหลักฐานที่แสดงว่าแครนเบอร์รี่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำสำหรับบางคน
- สารสกัดจากแครนเบอร์รี่โดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยในคนที่มีสุขภาพดี แต่หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และรับประทานยาบางอย่างอยู่ เช่น วาร์ฟาริน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน
- การรับประทานผลิตภัณฑ์จากแครนเบอร์รี่ไม่สามารถรักษาอาการการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ หากมีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะอยู่แล้ว จะใช้ในกรณีป้องกันเท่านั้น ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันการเกาะตัวของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cystitis/symptoms-causes/syc-20371306
- https://www.bupa.co.uk/health-information/urinary-bladder-problems/cystitis