อาการผิดปกติของอารมณ์
เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าและสูญเสียสมาธิ โรคนี้ส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม และอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกายหลายอย่าง บางรายอาจมีปัญหาในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ และบางครั้งอาจรู้สึกชีวิตไม่มีค่าได้
การรักษาจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อใช้ยา จิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง
อาการของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
แม้ว่าภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต แต่มักจะมีอาการหลายครั้ง อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือเกือบทุกวัน ได้แก่:
– ความรู้สึกเศร้า ว่างเปล่าหรือสิ้นหวัง
– อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิด โกรธง่ายแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย
– สูญเสียความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมปกติส่วนใหญ่หรือทั้งหมด เช่น เรื่องเพศ งานอดิเรก หรือกีฬา
– การนอนหลับผิดปกติ นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
– รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไร้เรี่ยวแรง แม้แต่งานเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ
– ความอยากอาหารลดลงและน้ำหนักลด หรือความอยากอาหารเพิ่มขึ้นและน้ำหนักเพิ่ม
– วิตกกังวล กระสับกระส่าย
– คิดช้าลง พูดช้าลง หรือเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง
– รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด จมอยู่กับความล้มเหลวในอดีต หรือโทษตัวเอง
– มีปัญหาในการคิด การใช้สมาธิ การตัดสินใจ และจดจำสิ่งต่างๆ
– มีความคิดเกี่ยวกับความตาย ความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
– มีปัญหาทางร่างกายที่อธิบายไม่ได้ เช่น ปวดหลังหรือปวดศีรษะ
คนจำนวนมากที่เป็นโรคซึมเศร้า อาการมักจะรุนแรงพอที่จะทำให้เกิดปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนในกิจกรรมประจำวัน เช่น การทำงาน การเข้าเรียน กิจกรรมทางสังคม หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น บางคนอาจรู้สึกเป็นทุกข์หรือไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
ทำไมถึงเป็นโรคซึมเศร้า
อาจมีเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้า เช่น เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิต การสูญเสียคนที่รัก การตกงาน หรือหลังคลอด อาจนำมาซึ่งภาวะดังกล่าว ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้ามักจะประสบกับภาวะซึมเศร้า แต่บางคนสามารถรู้สึกซึมเศร้าได้โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน
การรักษาโรคซึมเศร้า
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาภาวะซึมเศร้าอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การบำบัดด้วยการพูดคุย และบำบัดด้วยยา การรักษาจะขึ้นอยู่กับว่าคุณมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง
หากมีอาการซึมเศร้าเล็กน้อย แพทย์อาจให้คำแนะนำปรึกษาพูดคุย รอดูอาการว่าจะดีขึ้นเองหรือไม่ และแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เช่น การออกกำลังกาย พร้อมกับติดตามอาการ
สำหรับภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางถึงรุนแรง มักแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยการพูดคุยร่วมกับยาต้านซึมเศร้า หากมีอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรง ผู้ป่วยอาจได้รับการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการรักษาแบบเข้มข้นและได้รับยาต้านซึมเศร้าร่วมด้วย
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
หากรู้สึกซึมเศร้า ควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเร็วที่สุด แต่หากยังลังเลที่จะเข้ารับการรักษา ให้พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่คุณรัก คนในครอบครัว หรือใครก็ตามที่เราไว้ใจ
รักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองได้หรือไม่
แม้ว่าการปรึกษาแพทย์โรคซึมเศร้าเป็นความคิดที่ดีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาการนั้นรุนแรง แต่ก็ยังมีวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์มากมายที่บุคคลสามารถทำได้ด้วยตนเองเพื่อลดอาการซึมเศร้า นักบำบัดและแพทย์หลายคนแนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษาและการใช้ยา
1. การออกกำลังกาย
การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าพบว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลางเช่นเดียวกับการใช้ยา การออกกำลังกายมีประโยชน์ในเชิงบวกหลายประการ นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาวะอื่นๆ ดีขึ้น เช่น สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ช่วยการลดน้ำหนัก และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ
การออกกำลังกายเมื่อรู้สึกหดหู่อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย ดังนั้นจึงควรเริ่มจากสิ่งเล็กๆ และทำในสิ่งที่สนุกสนาน เช่น การเดินระยะสั้นๆ ในแต่ละวัน ออกกำลังกายที่บ้าน 10 นาที หรือเปิดเพลงและเต้นรำล้วนเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมในการลดอาการซึมเศร้า
การออกกำลังกายช่วยเรื่องอาการซึมเศร้าเพราะจะไปเพิ่มสารเคมีในสมองที่เรียกว่าเอ็นโดรฟิน แม้แต่การออกกำลังกายเบา ๆ เพียงไม่กี่นาทีต่อวันก็สามารถทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
2. จัดการความคิดเชิงลบ
เมื่อมีความรู้สึกซึมเศร้า คนมักจะคิดในแง่ลบ ความคิดเช่น “ฉันเป็นคนล้มเหลว” “ไม่มีใครชอบฉัน” หรือ “ฉันจะรู้สึกแบบนี้ตลอดไป” เป็นเรื่องปกติในความคิดของคนที่มีภาวะซึมเศร้า ความคิดเชิงลบเช่นนี้อาจกลายเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว และตอกย้ำความรู้สึกซึมเศร้า
วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ คือ ท้าทายความคิดเชิงลบด้วยการคิดเชิงบวก ตัวอย่างเช่น ความท้าทายต่อแนวคิดที่ว่า “ฉันจะรู้สึกแบบนี้เสมอ” อาจเป็น “ฉันจะรู้ได้อย่างไร” หรือนึกถึงเวลาที่รู้สึกแตกต่างไปจากตอนนี้
เรามักจะยอมรับว่าความคิดของเราเป็นจริงโดยไม่จัดการมัน ดังนั้น ควรเชื่อคำพูดที่ว่า “อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณคิด”
3. กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ
เมื่อคนเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขามักจะมีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารขยะที่มีน้ำตาล เค็ม และมีไขมันสูง ซึ่งสามารถทำให้รู้สึกสบายชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดแล้วอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น น้ำหนักขึ้น และทำให้อารมณ์ไม่ดี
วิธีแก้ไขคือการหาอาหารที่มีประโยชน์ที่ชอบ และกินอาหารเหล่านี้ทุกวัน เช่น ผลไม้สด สลัด เนื้อไม่ติดมัน ปลาที่มีน้ำมันปลาสูง เช่น ปลาแซลมอน และขนมปังโฮลเกรน ล้วนเป็นทางเลือกที่ดี
จุดสำคัญคือการหาอาหารที่มีประโยชน์ที่ชื่นชอบและฝึกฝนตัวเองให้กินอาหารเหล่านี้เมื่อรู้สึกหิวหรือรู้สึกแย่
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ทั้งภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลสามารถนำไปสู่การนอนไม่หลับ ซึ่งอาจรวมถึงความยากลำบากในการเริ่มต้นหลับและการนอนหลับให้ต่อเนื่องทั้งคืน การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันบางอย่างอาจช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้นตลอดทั้งคืน
ตัวอย่างเช่น:
– เข้านอนเวลาเดิมทุกคืน
– ไม่ดูทีวีหรือใช้คอมพิวเตอร์ในห้องนอน
– ไม่กินอาหารอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน
– ตรวจสอบให้แน่ใจว่าห้องนอนมืดและเงียบที่สุด
– ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้กำลังสบาย
– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหมดอย่างน้อยสองชั่วโมงก่อนเข้านอน
การนอนหลับมีความสำคัญต่อสมองและร่างกายของเรา การนอนหลับอย่างเพียงพอในแต่ละคืนจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นโดยรวมและเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งสามารถลดอาการซึมเศร้าได้
5. ดื่มน้ำเยอะๆ
น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอทุกวันจะช่วยร่างกายขจัดสารพิษ ฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะภายใน และช่วยเพิ่มความคิด
หลายคนดื่มน้ำไม่เพียงพอและหันมาดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทน เครื่องดื่มประเภทนี้ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำจนเกิดภาวะขาดน้ำ
หากการดื่มน้ำเปล่าเป็นเรื่องยาก ลองพิจารณาทางเลือกเหล่านี้:
– น้ำดื่มเย็นใส่น้ำแข็ง
– น้ำดื่มปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ
– เติมน้ำมะนาว หรือขิงลงในน้ำเย็น
– ชาสมุนไพรเย็นหรือร้อน เช่น คาโมมายล์ ขิง
– เติมน้ำผลไม้หนึ่งหรือสองช้อนโต๊ะลงในน้ำเพื่อเพิ่มรสชาติ
เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด ควรดื่มน้ำประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน นอกเหนือจากที่ได้รับจากอาหาร การรักษาร่างกายให้แข็งแรงจะช่วยลดความรู้สึกซึมเศร้าได้
6. เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
เมื่อคนๆ หนึ่งมีอาการซึมเศร้า พวกเขามักจะเข้าสู่กิจวัตรประจำวันเดิมๆ ที่ตอกย้ำอาการของโรคซึมเศร้า ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจตื่นนอน ไปทำงาน กลับบ้าน ดูรายการเดิมทางทีวีทุกคืน จากนั้นกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพก่อนเข้านอน การกระทำซ้ำๆ เช่นนี้อาจทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ตัวอย่างเช่น แทนที่จะมุ่งตรงไปที่ทีวีหลังจากกลับจากที่ทำงาน ให้มุ่งมั่นที่จะไปเดินเล่นก่อน หรือแทนที่จะกินอาหารเย็นที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ให้พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น
การเปลี่ยนกิจวัตรสามารถช่วยเปลี่ยนทางเดินของโดปามีนในสมอง ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่สำคัญที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกมีความสุข การเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เพื่อให้มีผลในเชิงบวก
7. สร้างกิจวัตรประจำวัน
สำหรับคนซึมเศร้าบางคน ปัญหาคือการมีกิจวัตรที่ไม่เป็นระเบียบในแต่ละวัน ในกรณีนี้ การกำหนดกิจวัตรประจำวันที่เป็นระเบียบมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ในการบรรเทาอาการซึมเศร้า
การสร้างกิจวัตรใหม่ที่ดีต่อสุขภาพสามารถทำได้ง่ายๆ ตัวอย่างเช่น การตื่นนอนและแต่งตัวในตอนเช้าแทน ที่จะใส่ชุดนอนสบายๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจส่งผลต่อนิสัยประจำวัน
กิจกรรมอื่นๆ เช่น โทรหาเพื่อนทุกวัน เดินเล่น เขียนบันทึก หรือใช้เวลาครึ่งชั่วโมงฟังเพลงเพลินๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจวัตรใหม่ยังเพิ่มระดับโดพามีน ซึ่งสามารถลดความรู้สึกซึมเศร้าได้
8. หัวเราะ
การหัวเราะเป็นอีกวิธีในการเพิ่มโดปามีนในสมอง การนั่งดูรายการตลกหรือภาพยนตร์ อ่านเรื่องตลก หัวเราะกับคนอื่นๆ หรือคิดเรื่องตลกขบขันที่ส่งผลให้เกิดเสียงหัวเราะล้วนสามารถเพิ่มระดับโดปามีนและช่วยลดอาการซึมเศร้าได้
9. ช่วยเหลือผู้อื่น
เมื่อเราซึมเศร้า จะมีแนวโน้มสูงที่จะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง รู้สึกปัญหาใหญ่โต ทำให้รู้สึกหนักใจ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือดูแลสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้การโทรหาเพื่อนเพื่อถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นอาสาสมัครในองค์กรการกุศล ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน หรือรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น มันทำให้เรามีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น และทำให้จิตใจหยุดหมกมุ่นอยู่กับปัญหาด้วย การหยุดความรู้สึกหดหู่ สามารถช่วยปรับปรุงความคิดเชิงบวกและยกระดับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้น
การเริ่มต้นช่วยเหลือตนเองเหล่านี้อาจดูท้าทายในตอนแรกสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในแต่ละวันสามารถเพิ่มพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่อาการซึมเศร้าค่อยๆ บรรเทาลง การก้าวเล็กๆ น้อยๆ ทุกวันไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาพดีสามารถส่งผลอย่างมากต่อการลดอาการซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลาง
โรคซึมเศร้าหายขาดได้ไหม
คำตอบขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ประเภทและความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม การแสวงหาการรักษาที่เหมาะสมสามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ไวขึ้น นอกจากนี้ การไม่ดูแลอาการซึมเศร้าไม่เพียงแต่นำไปสู่ความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายแรงตามมาอีกด้วย ตัวเลือกการรักษาสามารถปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การใช้ชีวิตอยู่กับโรคซึมเศร้า
หลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การแบ่งปันประสบการณ์ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นที่พบกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
Plasmalogen
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
พลาสมาโลเจนจากหอยเชลล์
สำหรับผู้กังวลเรื่อง
อัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม
รายละเอียดเพิ่มเติม
BNH Day & Night
Check-up Package
ตรวจสุขภาพ ราคา 5,500 24ชม.
โดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
รายละเอียดเพิ่มเติม
Ref.
1. mayoclinic.org
2. nhs.uk
3. intrepidmentalhealth.com
4. verywellmind.com
ข้อมูลโดย
ภญ. ปฐมา เทพชัยศรี
เภสัชกรคลินิก แผนกเภสัชกรรม
โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
คุณนั้นแตกต่าง วิตามินของคุณก็เช่นกัน
ชุดวิตามินที่เหมาะกับความต้องการเฉพาะคุณ
BNH VITAMIN THERAPY
ศาสตร์การบำบัดด้วยวิตามิน
ทำแบบประเมิน มาค้นหาว่าจริงๆแล้วร่างกายของคุณต้องการอะไร
ใช้เวลาเพียง 5 นาที เพื่อทำแบบประเมิน
คุณจะได้รับวิตามินเฉพาะบุคคล ส่งถึงประตูบ้าน