
โรคต้อหิน
นับเป็นสาเหตุของตาบอดเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก แต่ต้อหินเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการหรือสัญญาณเตือน กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นก็อาจสายเกินแก้ อย่าปล่อยให้ต้อหินกลายเป็นภัยเงียบ ที่ทำให้คุณต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เมื่อถึงวัย 40 ควรตรวจสุขภาพของดวงตาเป็นประจำทุกปี
ต้อหินคืออะไร
โรคต้อหินคือภาวะที่ขั้วประสาทตาถูกทำลาย เป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรที่พบได้บ่อย สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยเฉพาะถ้าตรวจพบในระยะแรก โรคต้อหินในระยะแรกไม่มีอาการ ต่อมาลานสายตาจะแคบลง ทำให้เสียการมองเห็นในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษา ต้อหินสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย
อาการของต้อหินเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่หากไม่รีบรักษาจะค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ เริ่มจากมองเห็นแคบลงทางด้านข้าง จนไปสู่การตาบอดในที่สุด กรณีต้อหินเฉียบพลัน จะมีอาการตามัว ตาแดง ปวดตารุนแรง ปวดศีรษะ หรืออาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันที
สาเหตุของต้อหินเกิดจากอะไร
โรคต้อหินคือโรคที่มีความผิดปกติของขั้วประสาทตา เกี่ยวข้องกับความดันตา ทำให้สูญเสียลานสายตาอย่างถาวร
เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นจนทำลายประสาทตา
ต้อหินถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่
โรคต้อหินสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม บุคคลที่มีประวัติดรคต้อหินในครอบครัว หรือ ญาติสายตรง จะมีโอกาสเป็นโรคต้อหินมากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวประมาณ 5 – 6 เท่า
อะไรบ้างที่ปัจจัยเสี่ยงทำให้เป็นต้อหิน
- อายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
- มีประวัติครอบครัว เช่น พ่อ,แม่,พี่,น้อง เป็นต้อหิน
- ความดันลูกตาสูง
- มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ
- ใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอดตา, ยาฉีด, ยาพ่น, หรือยากิน
- มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยอื่นๆ เช่น กระจกตาบาง, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไทรอยด์, ไมเกรน, ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- เคยมีอุบัติเหตุทางตา หรือเคยผ่าตัดทางตามาก่อน
- เชื้อชาติ ชาวแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่า ส่วนชาวเอเชียจะเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิด
โรคต้อหินมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร
- ต้อหินมุมเปิด (primary open angle glaucoma) พบได้บ่อยกว่าต้อหินประเภทอื่น เกิดจากการอุดตันของ trabecular meshwork ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ จึงเกิดความดันตาสูงและส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย
ต้อหินมุมเปิดที่มีความดันตาปกติ (normal-tension glaucoma) ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดต้อหินทั้งที่มีความดันตาไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
- ต้อหินมุมปิด (angle-closure glaucoma) เกิดจากการที่มุมตาถูกม่านตาปิดกั้น ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ปกติ เกิดความดันตาสูงตามมา
ต้อหินมุมปิดแบ่งได้เป็น
- ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่มีความดันตาสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดตาอย่างรุนแรงเฉียบพลัน ตามัวลง ตาแดง อาจมีปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- ต้อหินมุมปิดกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีแค่อาการปวดศีรษะ เป็นๆ หายๆ ซึ่งการวินิจฉัยค่อนข้างยากหากไม่ได้รับการตรวจตา
- ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง เนื่องจากการดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ในระยะแรกมักไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่าเป็นต้อหิน เมื่อโรคต้อหินลุกลาม ทำลายเส้นประสาทตา ทำให้ลานสายตาแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
- ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital glaucoma) เกิดในทารกหรือเด็กและอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ พบได้น้อยแต่อาการมักค่อนข้างรุนแรงและควบคุมโรคได้ยาก
- ต้อหินชนิดที่มีสาเหตุจากโรคอื่น (Secondary glaucoma) ต้อหินกลุ่มนี้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุจากโรคทางตาอื่นๆ หรือโรคทางร่างกาย เช่น เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา การอักเสบในลูกตา เนื้องอกในตา ต้อกระจกที่เป็นมาก หรือเบาหวานขึ้นตามาก รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์
- ภาวะสงสัยต้อหิน (Glaucoma suspect) พบในคนไข้ที่มีอาการบางอย่างเหมือนต้อหินเรื้อรัง แต่อาการยังไม่ครบทุกข้อที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหินเรื้อรังได้ เช่น มีความดันลูกตาสูงอย่างเดียว (มากกว่า 21 มม.ปรอท) หรืออาจเป็นผู้ป่วยที่มีลานสายตาผิดปกติโดยไม่พบสาเหตุ ซึ่งแพทย์จะเฝ้าติดตามอาการเป็นระยะ
การวินิจฉัยโรคต้อหิน มีวิธีใดบ้าง
การตรวจตาโดยจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี เป็นการป้องกันต้อหินและโรคเกี่ยวกับดวงตาอื่นๆได้ดีที่สุด
การรักษาต้อหินตั้งแต่ระยะแรก ทำให้ชะลอการเสื่อมของเส้นประสาทตา และช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้นานขึ้น
วิธีการวินิจฉัยโรคต้อหินอย่างละเอียด เพื่อค้นหาความเสี่ยงและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ
- การตรวจตาด้วย slit-lamp microscopy
- การตรวจวัดความดันภายในลูกตา
- การวัดความหนาของกระจกตา
- การตรวจลักษณะมุมตา
- การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา
- การตรวจลานสายตา
โรคต้อหินรักษาได้หรือไม่ มีวิธีใดบ้าง
หากตรวจพบเร็วสามารถรักษาได้ แต่โรคต้อหินจะทำลายเส้นประสาทตาอย่างถาวร เป้าหมายหลักของการรักษาคือช่วยประคับประคองให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น คงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด
วิธีการรักษาขึ้นกับชนิดและระยะของโรค การรักษาต้อหิน เป็นการควบคุมความดันตา มี 3 วิธี
- การใช้ยา เป็นวิธีที่ได้ผลดี ผู้ป่วยต้องหยอดยาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้เลเซอร์ ได้ผลดีในต้อหินบางชนิด
- การผ่าตัด ในกรณีที่ใช้ยาและเลเซอร์ไม่ได้ผล
วิตามิน ยาบำรุง หรืออาหารเสริม ช่วยป้องกันโรคต้อหินได้หรือไม่
วิตามินต่างๆ ไม่สามารถป้องกันและรักษาโรคต้อหินได้ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี
จริงไหมที่การนวดตา สามารถรักษาโรคต้อหินได้
การนวดตาไม่สามารถรักษาโรคต้อหินได้ และยังมีอันตรายจากการนวดตาซึ่งรุนแรงจนอาจสามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นได้