เบาหวานขึ้นตาคืออะไร

เป็นภาวะแทรกซ้อนทางตาที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดในจอประสาทตา (Retina) เกิดการอักเสบและได้รับความเสียหาย เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้จอประสาทตาขาดเลือด เซลล์ในการรับการมองเห็นถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการ หรือมีการมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นค่อยๆ น้อยลงจนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

สัญญาณของโรค เบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกของโรคอาจจะยังไม่พบอาการใด ๆ  หรือความผิดปกติในการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวและละเลยไม่เข้ารับการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ แต่เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น จะพบอาการต่างๆ เช่น

  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • ภาพที่มองเห็นมืดเป็นแถบๆ
  • สูญเสียการมองเห็น

สาเหตุของโรคเบาหวานขึ้นตามีอะไรบ้าง

เบาหวานขึ้นตาเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่ไปหล่อเลี้ยงจอตาโป่งพองจากผนังหลอดเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดและน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือด กระจายทั่วจอประสาทตา และเส้นเลือดใหญ่ที่จอตาจะเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ รวมถึงเส้นใยประสาทของจอตาและจุดภาพชัด (Macula) อาจเริ่มมีอาการบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีการอุดตันของเส้นเลือด ที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้

เมื่อหลอดเลือดที่จอประสาทตาเสียหาย ร่างกายก็จะสร้างหลอดเลือดใหม่มาทดแทน แต่หลอดเลือดที่สร้างใหม่มีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา และอาจทำให้เกิดแผลเป็นซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอกออกจากด้านหลังของดวงตา หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหินได้

มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นตา เช่น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมาเป็นเวลานานยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่า การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือ อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้น

ป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตาได้ก่อนจะสายไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานหรือควบคุมความรุนแรงของโรค โดย

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมีไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักโดยให้มีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) อยู่ที่ระหว่าง 18.5-24.9
  • เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานยารักษาเบาหวานตามกำหนดที่แพทย์สั่ง
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต ไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
  • ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้ไม่เกินกว่าค่าปกติ
  • สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น และควรไปพบแพทย์โดยทันทีหากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปีโดยจักษุแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ควรตรวจอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้

เบาหวานขึ้นตาจะรักษาอย่างไร

การรักษามีจุดประสงค์เพื่อชะลอหรือยับยั้งอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ

  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก มุ่งหวังไม่ให้โรคลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะคอยสังเกตอาการหรือความผิดปกติของดวงตาอย่างใกล้ชิด
  • หากเริ่มมีอาการทางจอประสาทตา แพทย์จะทำการยิงเลเซอร์เพื่อทำลายจอประสาทตาที่ตายแล้วและหลอดเลือดเกิดใหม่ เป็นการป้องกันไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น แต่หากมีอาการเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาหรือจอประสาทตาหลุดลอก อาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งวิธีการก็จะแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
  • การรักษาใหม่ๆ ในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา ปัจจุบันมีการใช้ยาฉีดเพื่อยับยั้งการเกิดของเส้นเลือดงอกใหม่ที่เรียกว่า Anti VEGF โดยการฉีดยาเข้าลูกตา ซึ่งการวิจัยปัจจุบันได้ผลค่อนข้างดีเมื่อมีการรักษาร่วมกับการฉายแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายที่มีจอตาบวม

เบาหวานขึ้นตาจะมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้างที่ต้องระวัง

  • เลือดออกในวุ้นตา

อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นจุดสีดำลอยไปมา แต่หากมีเลือดซึมออกมาในปริมาณมากอาจบังการมองเห็นทั้งหมดได้ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาจะไม่สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร อาจใช้เวลาในการกำจัดเลือดออกจากวุ้นตาประมาณ 2-3 สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ผู้ป่วยก็อาจกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน

  • จอตาลอก

เป็นผลมาจากแผลเป็นที่เกิดขึ้นนั้นดึงจอตาให้หลุดลอกออกจากด้านหลังของดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดดำลอยไปมาในเวลามองสิ่งต่างๆ มองเห็นแสงวาบ หรือสูญเสียการมองเห็นขั้นรุนแรง

  • ต้อหิน

เป็นผลมาจากกลุ่มเส้นเลือดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของดวงตา และไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง

  • สูญเสียการมองเห็น

ภาวะเบาหวานขึ้นตาหรือต้อหิน สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้