
สารบัญบทความ
ทุกสิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบ ค่าตับสูง เกิดจากสาเหตุอะไร
โรคไขมันพอกตับ (fatty liver disease)
โรคไขมันพอกตับเกิดขึ้นเมื่อตับเกิดการสะสมไขมันส่วนเกินของร่างกาย ที่เกิดจากการบริโภคอาหารมากเกินไปหรือสาเหตุอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วตับจะมีการสะสมไขมันอยู่เล็กน้อย หากมีการสะสมไขมันในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
โรคไขมันพอกตับไม่ดีอย่างไร
ไขมันที่สะสมอยู่ในตับที่มากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งตับอาจได้รับความเสียหาย เกิดรอยแผล และในกรณีรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับ หรือการทำงานของตับล้มเหลวได้
ค่าตับสูง คือ อะไร
คือค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น มักเกิดจาก
ตับเกิดการอักเสบ หรือเกิดความเสียหายต่อเซลล์ในตับ ทำให้เซลล์ตับที่อักเสบหรือได้รับบาดเจ็บรั่วไหลออกมา รวมทั้งเอนไซม์ตับ รั่วไหลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ค่าเอนไซม์ตับในเลือดที่ได้สูงกว่าปกติ ซึ่งพบได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะไขมันพอกตับ การติดเชื้อไวรัส ยา/สมุนไพร การได้รับสารพิษ การเป็นโรคต่างๆ เป็นต้น
ค่าเอนไซม์ตับที่มักพบว่าสูง คือ
มีค่า Alanine transaminase (ALT) หรือserum glutamic pyruvic transaminase (SGPT)
หรือ Aspartate transaminase (AST) หรือ serum glutamic oxaloacetic transaminase (SGOT) หรือทั้ง 2 ตัว สูงมากกว่า 40 หน่วย ยิ่งค่าสูงมาก ยิ่งแสดงถึงตับมีการอักเสบมาก
ค่าตับสูง เกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุโดยทั่วไปที่ทำให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น ได้แก่
- ยา/สมุนไพรต่างๆ เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม statin, ยาพาราเซตามอล, ยาฆ่าเชื้อวัณโรค เป็นต้น
- โรคไขมันพอกตับ
- การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี เป็นต้น
- มีภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย
- ได้รับสารพิษที่มีผลทำลายตับ เป็นต้น
นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้มีอะไรบ้าง
สาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้มีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น โรคอ้วน โรคตับแข็ง โรคไทรอยด์ โรคมะเร็ง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเอนไซม์ตับสูงผิดปกติมีได้หลายปัจจัย ดังนั้น ควรหาสาเหตุให้พบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตับอักเสบที่มากขึ้นต่อไป
ทราบได้อย่างไรว่าเรามีภาวะไขมันพอกตับ
เราจะทราบว่ามีภาวะไขมันพอกตับเมื่อ
ได้มีการเจาะเลือดตรวจดูค่าเอนไซม์ตับ ซึ่งจะพบว่ามีค่าสูงขึ้น มักพบร่วมกับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และความดันเลือดสูงด้วย
นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยโดยการ ทำอัลตราซาวน์ตับ หรือตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมด้วย ในบางรายอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อตับไปตรวจ
สาเหตุที่มักทำให้เกิดไขมันพอกตับ มี 2 รูปแบบหลักๆ คือ
ไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์
เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น
- ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
- ภาวะโรคเบาหวาน หรือดื้อต่ออินซูลิน
- ภาวะไขมันในเลือดสูง เช่น ระดับคลอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- ภาวะความดันเลือดสูง
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยา tamoxifen และยาอื่นๆ
- การรับประทานอาหารไม่สมดุล เป็นต้น
ไขมันพอกตับจนตับอักเสบ ตับอักเสบอาการเริ่มแรก จะมีอาการอย่างไรบ้าง
อาการแรกเริ่มของตับอักเสบ
คนส่วนใหญ่แรกเริ่มที่มีเอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้นมักไม่มีอาการ จะพบเมื่อได้รับการตรวจเลือด หากเอนไซม์ตับสูง และตับอักเสบมากขึ้นอาจพบอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) เบื่ออาหาร เป็นต้น
หากเป็นมากอาจพบ ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ขาบวม ท้องบวม อ่อนแรงมากได้
ค่าเอนไซม์ตับสูงควรทำอย่างไร ไขมันพอกตับปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอย่างไร รักษาหายไหม
ค่าเอนไซม์ตับสูงควรทำอย่างไร
ค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น หรือภาวะตับอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยา/สมุนไพรบางชนิด โรคไวรัสตับอักเสบ มะเร็ง ภาวะอ้วน ไขมันพอกตับ ฯลฯ ดังนั้นควรหาสาเหตุที่ทำให้ตับอักเสบโดยปรึกษาแพทย์
ไขมันพอกตับปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอย่างไร รักษาหายไหม
การมีไขมันพอกตับสูงนานๆ จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง และโรคไต ซึ่งถ้าหากเป็นผู้ที่มีโรคเบาหวานอยู่แล้ว ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ
ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไขมันพอกตับที่เฉพาะเจาะจง แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดให้ไม่สูงเกินไป การรักษาภาวะไขมันพอกตับแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดโอกาสตับเสียหายได้
ค่าเอนไซม์ตับสูงควรปฏิบัติตัวอย่างไร กินอย่างไร และหลีกเลี่ยงอะไร
ผู้ที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงควรรับประทาน
- อาหารให้สมดุล จำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง นอกจากนี้ควรลดปริมาณอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในช่วงปกติ
- ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานต่างๆ งดแฮลกอฮอล์
- ออกกำลังกาย เช่น เดิน ขี่จักรยาน ซึ่งถึงแม้น้ำหนักจะไม่ลดลงแต่ก็ช่วยให้ภาวะไขมันพอกตับดีขึ้นได้
วิตามินและอาหารเสริมบางชนิดอาจช่วยบำรุงตับ อาจทำให้ค่าตับลดลงได้เร็วขึ้น
มีการศึกษาที่พบว่าสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดการสร้างไขมันในเซลล์ ซึ่งจะช่วยลดการดำเนินของโรคไขมันพอกตับไม่ให้แย่ลงได้ เช่น สารสกัดจาก Artichoke, Alpha Lipoic Acid, Coenzyme Q10, วิตามินอี เป็นต้น
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้อย่างไร
การปรับพฤติกรรมและการใช้ชีวิต
เราสามารถมีพฤติกรรมที่ช่วยให้ตับให้มีสุขภาพดีได้ โดยการ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา/สมุนไพรที่เป็นพิษต่อตับโดยปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ
- ดูแลน้ำหนักไม่ให้สูงเกินไป
- หยุดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/17679-elevated-liver-enzymes
- https://www.mayoclinic.org/
- https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2011/1101/p1010.html
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15831-fatty-liver-disease
- https://www.nhs.uk
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6165515/