“ตรวจก่อนแต่ง” ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพ
แต่คือ “การวางแผนชีวิตของทั้งครอบครัว”
เรื่องของสุขภาพและความเจ็บป่วย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในหลาย ๆ ครอบครัว แค่เราไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเป็นหวัดก็สามารถทำให้คนรอบข้างและคนในครอบครัวเป็นห่วงและกังวลได้แล้ว แสดงให้เห็นว่าสุขภาพมีอิทธิพลกับครอบครัว หากเราสามารถทราบก่อนว่าสุขภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร มีโรคอะไรหรือยีนโรคร้ายอะไรที่แฝงอยู่ (แต่ไม่มีอาการ) และจะมีผลอย่างไรในอนาคต ก็จะสามารถวางแผนครอบครัวตัดวงจรการส่งต่อยีนและโรคที่ไม่พึงประสงค์ไม่ให้ส่งต่อไปยังคู่รักหรือตกทอดไปถึงลูกได้
ด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันนี้ ทำให้สามารถคัดกรองโรคและป้องกันได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้ไปถึงจุดที่แก้ไขยาก หรือแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานก่อนการสร้างครอบครัว เหมือนการวางรากฐานให้เป็นครอบครัวสุขภาพดีตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตคู่ไปจนถึงอนาคตที่ลูกน้อยเติบโต
ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ?
เพราะการเตรียมพร้อมสุขภาพที่ดีของพ่อและแม่ ส่งผลต่อความสมบูรณ์และแข็งแรงของทารกในครรภ์ด้วย ปัจจุบันคนเรามีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง หรือแต่งงานตอนอายุมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาถ้าหากเราไม่ได้ตรวจร่างกายก่อนที่จะมีบุตร รวมถึงค้นหาโรคที่แอบซ่อนไว้ทางนรีเวช เช่น เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือซีสต์ที่รังไข่ ที่อาจทำให้เกิปัญหาในอนาคต ทำให้การตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง หรือเข้าสู่ภาวะผู้มีบุตรยาก
คู่ที่แต่งงานแล้ว ตรวจได้มั้ย ?
คู่ที่แต่งงานแล้ว และยังไม่เคยผ่านการคัดกรองการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานมาก่อน แนะนำให้ตรวจเช่นกัน เพราะเราไม่มีทางทราบเลยว่ามีพาหะโรคเลือด โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้หรือไม่ หากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร อีกทั้งปัญหาโรคทางนรีเวช มดลูก และรังไข่ ที่แอบแฝงอยู่
หรือแม้กระทั่งแต่งงานไปแล้วป็นปี แต่ยังไม่มีลูก ซึ่งอาจมาทราบสาเหตุภายหลังว่าอยู่ในภาวะผู้มีบุตรยาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการรักษา การตั้งครรภ์ก็ยืดเวลาออกไป บวกกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้ตั้งครรภ์ยาก และเป็นครรภ์เสี่ยงสูง
ตรวจก่อนแต่งและก่อนมีบุตร
ไม่เหมือนกับการตรวจสุขภาพทั่วไป
มีจุดประสงค์และรายการตรวจที่แตกต่างกัน และไม่สามารถทดแทนกันได้
ตรวจก่อนแต่งงานและก่อนมีบุตร |
การตรวจสุขภาพทั่วไป |
· พบแพทย์เฉพาะทาง – สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์เจริญพันธุ์เพื่อวางแผนครอบครัว รักษาภาวะมีบุตรยาก
· ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ – ป้องกันโรคที่สามารถแพร่ไปสู่คนรักจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ บี · ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี – ป้องกันลูกน้อยติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ (โอกาสติดเชื้อมากถึง 90%) · ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน – การติดเชื้อหัดเยอรมันจากแม่สู่ลูกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดออกมาพร้อมความผิดปกติ หากคุณแม่ยังไม่มีภูมิต้านทาน แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันก่อนตั้งครรภ์ · ตรวจโรคทางพันธุกรรม – เช่น ธาลัสซีเมีย หรือโลหิตจาง โรคจากพันธุกรรมแฝงจากพ่อแม่สู่ลูกรัก ที่ทำให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาอีกมากมาย เช่น ทารกตัวเล็ก การทำงานของตับและหัวใจผิดปกติ (คนไทย 45% เป็นพาหะธาลัสซีเมีย) และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ · แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกต้อง – คุณผู้หญิงที่ตั้งใจจะมีบุตรหากมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง ไทรอยด์ โรคหัวใจ อาจเป็นอันตรายขณะตั้งครรภ์ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เฉพาะทางร่วมกับสูติ-นรีแพทย์เพื่อความปลอดภัย · ตรวจภายใน – เตรียมสุขภาพของคุณผู้หญิงก่อนตั้งครรภ์ด้วยการตรวจภายใน ตรวจความสมบูรณ์มดลูกและรังไข่ (Ultrasound Transvaginal) รวมถึงตรวจหาเชื้อเอชพีวีและการเปลี่ยนแปลงเซลล์หาสาเหตุการติดเชื้อมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep และ HPV DNA) · ป้องกันภาวะทารกเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ เจริญเติบโตช้า ภาวะแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนด · แก้ปัญหามีบุตรยาก ตรวจน้ำเชื้อ (Sperm) ในผู้ชาย และ ตรวจไข่ในผู้หญิง – เพิ่มโอกาสมีบุตรได้ง่ายขึ้นจากการได้รับคำแนะนำเรื่องวันตกไข่ หรือตรวจเช็คแก้ปัญหามีบุตรยาก หากพบปัญหาแต่เนิ่นๆ
|
· พบแพทย์ตรวจสุขภาพองค์รวม – เพื่อคัดกรองความผิดปกติ ค้นหาความเสี่ยงโรคต่างๆ ติดตามอาการ และวางแผนการรักษาต่อไป
· การตรวจทางห้องปฏิบัติการ – เน้นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของตับ ไต การตรวจหากรดยูริคในเลือด · ตรวจคัดกรอง – เน้นตรวจการทำงานของอวัยวะหลักๆ เช่น เอกซเรย์ปอดหัวใจ ว่ามีน้ำท่วมปอด ปอดแฟบ หัวใจผิดรูปหรือไม่ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเต้นของหัวใจ ค้นหาความเสี่ยงโรคหัวใจ ตรวจอัลตร้าซาวนด์หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองว่ามีลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดในสมอง ตรวจแคลเซียมที่เกาะในหัวใจและหลอดเลือดป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์คัดกรองมะเร็งปอด เป็นต้น · การตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองสารก่อมะเร็ง ตรวจคัดกรองเฉพาะโรค และอื่นๆ |
ปรารถนาให้ลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่แรกเกิด
ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมก่อนตั้งครรภ์
นอกจากธาลัสซีเมียแล้ว ยังมีโรคทางพันธุกรรมที่อาจแฝงอยู่ในตัวเราโดยไม่รู้ตัวและสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ เทคโนโลยีการตรวจยีนส์ในปัจจุบันทำให้เราสามารถตรวจหาพันธุกรรมแฝงในโรคที่มีความรุนแรงหรือพบได้บ่อยได้ก่อน การตรวจก่อนแต่งงานและการวางแผนครอบครัวก่อนมีบุตรจึงสำคัญ เพื่อไม่ให้ลูกรักต้องพบความผิดปกติในอนาคตทั้งที่สามารถป้องกันได้
12 โรคทางพันธุกรรม ที่มีความรุนแรงหรือพบได้บ่อย
ชนิดของโรค | อุบัติการณ์ของโรค | อาการของโรค |
อัลฟาธาลัสซีเมีย
Alpha – Thalassemia |
พาหะ 1 ใน 5 | โรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ HBA1 และ HBA 2 โดยส่งผลต่อการสร้างโปรตีนเม็ดเลือดแดงชนิดอัลฟาโกลบิน ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือเด็กมีภาวะโลหิตจางได้ ความผิดปกตินี้สามารถพบได้บ่อยในคนเอเชีย ดังนั้นพ่อและแม่ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคนี้ก่อนการมีบุตร |
บีต้าธาลัสซีเมีย
Beta – Thalassemia |
พาหะ 1 ใน 10 | โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนส์ HBB โดยมีผลต่อการสร้างโปรตีนเม็ดเลือดแดงชนิด บีตาโกลบิน ทำให้เกิดภาวะซีด ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับชนิดของการกลายพันธุ์ของยีนส์ ดังนั้นพ่อและแม่ควรได้รับการคัดกรองพาหะก่อนการมีบุตร |
หูหนวก Autosomal Recessive Deafness | พาหะ 4 ใน 50 | ภาวะหูหนวกที่ได้รับการถ่ายทอดยีนส์ด้อยจากพ่อแม่ที่เป็นพาหะซึ่งไม่แสดงอาการหูหนวกหรือมีประวัติครอบครัวหูหนวกมาก่อน |
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Spinal Muscular Atrophy | พาหะ 1 ใน 50 | เป็นโรคที่เกิดจากการเซลล์ประสาทไขสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อร่างกายหยุดแบ่งเซลล์ ทำให้กล้ามเนื้อไม่เจริญเติบโต ลีบเล็กลง พัฒนาการทางกล้ามเนื้อของเด็กช้ากว่าปกติ จากพ่อและแม่ที่เป็นพาหะ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคได้มากถึง 1 ใน 4 |
ฟินิลคีโตนูเรีย Phenylketonuria | พาหะ 1 ใน 60 | เกิดจากความผิดปกติของยีนส์จากพ่อและแม่ทำให้เอนไซม์ที่ย่อยกรดอมิโนฟินิลอะวานินผิดปกติ แม้แรกเกิดจะปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาได้ทันท่วงทีเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้ารุนแรง ศีรษะเล็ก ชัก |
โรควิลสัน
Wilson Disease |
พาหะ 1 ใน 100 | เกิดจากการกลายพันธ์ของยีนส์ ATP7B ที่ถ่ายทอดมาจากพ่อ- แม่โดยยีนส์นั้นทำหน้าที่นำแร่ทองแดงเข้าตับ ดังนั้นเด็กจะมีอาการของโรคตับ เช่น ตัวเหลือง ตับอักเสบ ตับวาย ในช่วงอายุตั้งแต่ 3 ขวบเป็นต้นไป |
โรคสะสมไกลโคเจนชนิดที่สอง
Glycogen Storage Disease type II |
พาหะ 1 ใน 100 | เกิดจากการขาดเอนไซม์ Acid-alpha-Glycogen ทำให้เกิดการสะสมของไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อหัวใจ ปัจจุบันการรักษาจำเป็นต้องให้เอนไซม์ทดแทนไปตลอดชีวิต |
กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์
Fragile X Syndrome |
1 ใน 1,000 ของเด็กชาย |
มักพบความผิดปกติในเพศชาย และพบพาหะในเพศหญิง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะพบปัญหาเรื่องพัฒนาการสติปัญญาล่าช้า อาจมีอาการออทิสติกร่วมด้วย |
โรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเซน Duchenne Muscular Dystrophy | 1ใน 3,600 ของเด็กชาย |
พบในเพศชาย ทำให้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า ทำให้เด็กเดินลำบาก อาการจะเป็นมากจนอาจติองใช้รถเข็น ตั้งแต่ก่อนจะเป็นวัยรุ่น แม่ที่เป็นพาหะโรคนี้ลูกผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากถึง 1 ใน 2 |
ฮีโมฟีเลีย บี Hemophilia B | 3 ใน 30,000 ของเด็กชาย |
โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก พบในเพศชาย ในรายที่รุนแรงทำให้เลือดออกในข้อ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ และสมองได้ |
กาแลคโตซีเมีย Galactosemia | 1 ใน 60,000 | ภาวะที่เกิดจากการขาดเอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลกาแล็กโทสเป็นกลูโคสทำให้น้ำตาลในเลือดสูง อาการเกิดได้ตั้งแต่วันช่วงวันแรกๆของชีวิตหลังจากที่กินนมแม่ที่มีน้ำตาลแลคโทสโดยมีอาการ เช่นตัวเหลือง ตับอักเสบ ซึม เลี้ยงไม่โต |
โรคซิสติก ไฟโบรซิส Cystic Fibrosis | 1 ใน 100,000 | เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสร้างเสมหะขึ้นในปอด เมือกในตับอ่อน ทำให้เกิดการติดเชื้อเร็วและทำลายปอด และอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดของยีนส์จากพ่อ-แม่ |
*อ้างอิงข้อมูลสถิติโรคธาลัสซีเมียของประชากรไทยจากกระทรวงสาธารณสุข และโรคอื่นๆ จากวารสารทางการแพทย์
ตรวจคัดกรองภาวะยีนส์แฝงพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยี
- Next Generation Sequencing (NGS)
- TP-PCR และ Fluorescence Capillary Gel Electrophoresis
โดยเจาะเลือด 5 ml. (EDTA tube) นำส่งตรวจห้องปฏิบัติการ BGI Tech Solution (Hong Kong) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล และรอผล 25-30 วันทำการ
เมื่อตรวจแล้วพบว่าพ่อหรือแม่เป็นพาหะหรือมียีนส์แฝงอยู่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยวางแผนการมีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งมีหลากหลายวิธีในปัจจุบัน เช่น การปฏิสนธิในหลอดแก้ว การคัดเลือกพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวหรือการตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรมก่อนคลอด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในเด็ก และช่วยลดการส่งต่อโรคทางพันธุกรรมในรุ่นต่อๆไป
อยากมีลูกมาก แต่ไม่สำเร็จสักที
ตรวจเช็คสุขภาพค้นหาภาวะมีบุตรยาก
มีหลายๆคู่ที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการมีบุตร หากพยายามมีบุตรมานานเกิน 6 เดือน – 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่สำเร็จ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือเคยประสบปัญหาแท้งบุตรตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ถือว่าอยู่ในภาวะมีบุตรยาก การตรวจสุขภาพทั่วไปอาจไม่เพียงพอ
การตรวจสุขภาพสำหรับคู่ที่มีบุตรยากจะช่วยตรวจเช็คสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการมีบุตรหรือไม่ รวมถึงค้นหาสาเหตุที่ส่งผลให้มีบุตรยาก เช่น มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์หรือโปรแลคตินผิดปกติ มีภาวะรังไข่เสื่อม หรืออสุจิไม่สมบูรณ์ เป็นต้น หากพบปัญหาแพทย์จะวางแนวทางรักษาและแก้ไขเพื่อให้การมีบุตรประสบผลสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
แนวทางรักษาและแก้ไขภาวะมีบุตรยากด้วย IUI
IUI (Intra – Uterine Insemination) เป็นวิธีช่วยให้ตั้งครรภ์โดยการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรง ซึ่งใกล้เคียงวิธีการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และเป็นที่นิยมในการรักษาภาวะมีบุตรยากเนื่องจากมีอัตราประสบความสำเร็จพอสมควรในช่วงเวลาที่ใกล้ไข่ตกและค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จ เช่น อายุของฝ่ายหญิง ความแข็งแรงของอสุจิของฝ่ายชาย ความสมบูรณ์ของไข่ ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น ดังนั้นการเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสการมีบุตรมากขึ้น และเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์
ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมอย่างยาวนานกว่า 123 ปี โดยเฉพาะด้านสุขภาพสตรี การผดุงครรภ์ แม่และเด็ก BNH พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนในครอบครัวให้แข็งแรงและสุขภาพดีไปทุกๆวัน ให้สมกับที่ท่านมอบความไว้วางใจให้เราเป็นผู้ดูแลทุกช่วงเวลาแห่งชีวิต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 4 โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
โทร 02-022-0700 และช่องทางไลน์ Line @Mbrace
นัดหมาย ดูประวัติการรักษา ผลตรวจ Line @BNHhospital