การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Co-Test
โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ2 ของผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม ด้วยเหตุผลดังกล่าว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันความรุนแรงจากมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการตรวจคัดกรองจะทำให้พบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหลายวิธี ซึ่งวิธีทีแม่นยำมากที่สุดคือ การตรวจทางเซลล์วิทยาร่วมกับการตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี(ความไวในการตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้มากกว่า99%)
1.การตรวจทางเซลล์วิทยา หรือที่ที่รู้จักกันในชื่อ ตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test) โดยใช้แปรงป้ายเก็บเซลล์จากปากมดลูกแล้วนำมาแกว่งในน้ำยาตินแพร็พ มีลักษณะพิเศษคือ สามารถสลายมูกเลือดและเม็ดเลือดแดงได้ จึงไม่มีมูกเลือดบดบัง เซลล์เรียงตัวแบบบาง ค้นหาเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น ใช้ระบบคอมพิวเตอร์คัดกรองเซลล์และยืนยันเซลล์มะเร็งอีกครั้งด้วยนักเทคนิคการแพทย์ มีความไวในการตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้มากถึง74%
2.การตรวจเชื้อไวรัชเอชพีวี โดยการนำเซลล์ปากมดลูกที่ได้จากน้ำยาตินเพร็พไปตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์ เพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต โดยมีความไวในการตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้มากกว่า96 %
การตรวจความผิดปกติของมดลูกและรังไข่โดยวิธี Tranvaginal Ultrasound
การอัลตราซาวน์ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งความสามารถในการผ่านและการสะท้อนกลับไม่เท่ากัน หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงสะท้อนกลับระดับต่างๆ ซึ่งบอกถึงความหนาแน่น และความลึกของเนื้อเยื่อนั้นแล้วนำสัญญาณที่ได้รับมาประมวลผลสร้างเป็นภาพขึ้นมา ซึ่งสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยลักษณะมดลูก เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ลักษณะรังไข่ที่ปกติและผิดปกติ
โดยแพทย์จะสอดหัวตรวจอัลตร้าซาวด์ที่มีความแตกต่างจากหัวตรวจผ่านเข้าไปทางช่องคลอด ข้อดีคือหัวตรวจจะเข้าไปใกล้ตำแหน่งมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจทางหน้าท้อง จึงสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจนกว่าและไม่ต้องรอเวลาในการกลั้นปัสสาวะ