วัคซีนมะเร็งปากมดลูก
HPV 9 สายพันธุ์
มะเร็งปากมดลูก คืออะไร?
มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แม้คนในครอบครัวจะไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน ก็ยังคงมีความเสี่ยง
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่
- การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มากถึง 2 เท่า รวมทั้งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ด้วย
- ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อเอชไอวี [Human immunodeficiency virus (HIV)]
- มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือเกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- ใช้เม็ดยาคุมกำเนิดในระยะยาวติดต่อกันนานเกิน 4 – 5 ปีขึ้นไป
- มีบุตรมาก (3 คนขึ้นไป)
- มีบุตรเมื่ออายุน้อย (ก่อนอายุ 17 ปี)
- หลีกเลี่ยงไม่เข้ารับการตรวจภายในและคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวีประจำปี
ผู้ได้รับเชื้อมักไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งมีอาการ เช่น เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ (ที่ไม่ใช่ประจำเดือนหรือมีเลือดออกในวัยหมดประจำเดือน) เจ็บขณะร่วมเพศ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ นั่นอาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูก
ไวรัส HPV คืออะไร?
HPV เป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อ HPV ออกไปเองภายใน 2 ปี แต่หากเชื้อฝังแน่นติดนานกว่านั้นจะมีผลกับเซลล์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% ส่วนสายพันธุ์ 6 และ 11 เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ ซึ่งหูดหงอนนั้นรักษาให้หายได้ แต่มะเร็งปากมดลูกนั้นเมื่อเป็นแล้วรักษายาก ค่าใช้จ่ายสูง
HPV ติดต่อโดยการสัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ปาก คอหอย ทวารหนัก องคชาติ มดลูก ปากมดลูก และเกิดขึ้นได้ทั้งในคู่รักชาย-ชาย, ชาย-หญิง และหญิง-หญิง
จะป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร?
เนื่องจาก HPV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีเชื้อ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อที่ได้ผลดีที่สุด คือการไม่มีเพศสัมพันธ์ เพราะแม้จะสวมถุงยางอนามัย ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งป้องกันได้ถึง 70-90% แต่การจะป้องกันให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดคือต้องฉีดในผู้ที่ยังไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ (ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิต) จึงแนะนำให้ฉีดได้ในเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นไป โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม/คอร์ส อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำให้ตรวจภายในตามปกติเมื่อถึงเวลาตามช่วงวัย (แม้มีเพศสัมพันธุ์แล้วก็ยังสามารถฉีดวัคซีนได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงเล็กน้อย และสามารถฉีดได้ในผู้ชายเช่นกัน)
วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ กับ วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ต่างกันอย่างไร?
เนื่องจาก 70% ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจาก HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ส่วนอีกประมาณ 18% มาจากสายพันธุ์ 31, 33, 45, 52, 58 ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ป้องกันได้อยู่แล้ว ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน แต่ชนิด 9 สายพันธุ์จะป้องกันไวรัส HPV เพิ่มอีก 5 สายพันธุ์ คือ 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ว่า 2 หรือ 4 หรือ 9 สายพันธุ์ก็ตาม ยังคงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำตามกำหนด จะทำให้ช่วยป้องกันได้มากกว่า 95% เลยทีเดียว
ถ้าฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ไปแล้ว จำเป็นต้องฉีดชิด 9 สายพันธุ์อีกไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดซ้ำ แต่หากฉีดชนิด 4 สายพันธ์มาแล้ว จำเป็นจะต้องเว้น 1 ปี จึงจะฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้
ตรวจภายในเป็นประจำอยู่แล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV หรือไม่
การฉีดวัคซีน HPV และการตรวจภายใน เป็นวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่แตกต่างกัน วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เซลล์ผิดปกติ ส่วนการตรวจภายในหรือแพปสเมียร์เป็นการตรวจวินิจฉัยหาเซลล์ผิดปกติแล้ว ซึ่งหากตรวจพบจะได้รีบรักษาได้ทันก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง การฉีดวัคซีนร่วมกับตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นการป้องกัน 2 ทาง ซึ่งได้ผลดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ผู้ชายฉีดวัคซีน HPV ช่วยลดความเสี่ยงในผู้หญิงได้ไหม?
นอกจากจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงแล้ว วัคซีน HPV ยังสามารถฉีดได้ในผู้ชาย จะช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ หรือมะเร็งช่องปาก ลำคอ ทวารหนักในผู้ชายได้ และช่วยลดความเสี่ยงในผู้หญิงได้ แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกับผู้หญิง