ผื่นโควิดเป็นยังไง รักษาหายไหม
อาการทางผิวหนังในผู้ติดเชื้อ Covid-19 พบได้ประมาณ 5.95% (0.2% -20.4%) จากการรวบรวมการศึกษาทางการแพทย์แบบ Systemic Review โดยส่วนใหญ่ประมาณ 55% พบหลังเริ่มอาการของโรค, 35% พบพร้อมกับอาการโรค, อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยประมาณ 10.5% มีผื่นเพียงอาการเดียวนำมาก่อนอาการแสดงอื่น ๆ โรคโควิดได้1
อาการแสดงของผื่นมีได้หลายรูปแบบ ผื่นชนิดผดแดง, ลมพิษและผื่นที่นิ้วเท้าพบได้บ่อยที่สุด ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการต่าง ๆ จนมีผื่นผิวหนัง ในผู้ป่วยเด็กเฉลี่ย 1.5 วัน (อาจพบได้ตั้งแต่ 3 วันก่อนมีอาการอื่น ถึง 7 วันหลังเริ่มมีอาการ) ในผู้ใหญ่ เฉลี่ย 7.9 วัน (อาจพบได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนมีอาการอื่น ถึง 38 วันหลังเริ่มมีอาการ)2 ผื่นบางประเภทอาจะพบได้เร็วกว่า เช่น ลมพิษ มักพบภายใน 5 วัน ในขณะที่ผื่นชนิดจุดแดงตามปลายมือเท้าพบได้ช้ากว่า อาจถึง 2 สัปดาห์หลังมีอาการ
7 รูปแบบผื่นโควิด และ ขึ้นที่ไหนบ้าง
1. ผื่นลมพิษ (Urticaria)
อาการเหมือนลมพิษทั่วไป ขึ้นที่ลำตัวและแขนขา ไม่สัมพันธ์ความรุนแรงของโรค มักเกิดพร้อมหรือหลังจากมีอาการของการติดเชื้อ Covid-19 ไม่นาน โดยเฉพาะอาการระบบทางเดินหายใจ พบได้ 15-19% อย่างไรก็ตามต้องแยกโรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีลมพิษได้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สัมผัส การซักประวัติเกี่ยวกับประวัติลมพิษหรือโรคภูมิแพ้ในอดีตร่วมด้วยจึงมีความสำคัญ
2. ผื่นผดแดงเล็ก (Maculopapular, Morbilliform Rash)
มีลักษณะผดแดงเล็กคล้ายการไข้ออกผื่นจากไวรัสหรือผดร้อน มักขึ้นตามแขนขา พบได้บ่อยที่สุดถึง 44-47% มักพบในคนที่อาการไม่รุนแรง โดยมากผื่นผดแดงมักพบในกลุ่มอาการติดเชื้อจากไวรัสอื่น ๆ ด้วยได้ อาการแสดงอื่น ๆ ควรนำมาประกอบกับการวินิจฉัย
3. ผื่นตุ่มน้ำใส (Papulovesicular Exanthem)
มีลักษณะผดแดงปนตุ่มน้ำใส ขึ้นที่ลำตัวกระจายทั่ว ๆ จะมีอาการคันเล็กน้อยไม่เจ็บแตกต่างจากตุ่มน้ำใสจากโรคสุกใส พบประมาณ 9% มักเกิดหลังจากอาการโรคที่มีอาการหลายระบบ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 วัน บางรายงานพบว่าสัมพันธ์กับอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ สับสน จมูกไม่ได้กลิ่น
4. ผื่นคล้ายปฏิกิริยาที่มีต่ออุณหภูมิหนาวเย็นต่อผิวหนัง (Chilblain-like Acral Pattern)
มีลักษณะผื่นจุดแดงคันนูนคล้ายเวลาอยู่ในอากาศหนาวเย็น มักขึ้นที่ปลายเท้าและนิ้วเท้า เรียกกันว่า นิ้วหัวแม่เท้าโควิด (Covid Toes) พบได้ 19-28% มักพบในเด็กและคนอายุน้อย โดยเฉพาะชาวคอเคเชี่ยน พบในผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
5. ผื่นคล้ายร่างแห (Livedo Reticularis / Racemosa-like Pattern)
เกิดจากระบบไหลเวียนของเลือดที่ช้า ทำให้เกิดผื่นลักษณะคล้ายร่างแหหรือตาข่าย สมมาตร สีเข้มเป็นวงล้อมรอบผิวหนังตรงกลางมีสีอ่อน พบในผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรงปานกลาง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตามในลักษณะผิวของบางคนอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับภาวะนี้ โดยเฉพาะในเด็ก (Cutis Marmorata) อาจพบผื่นร่างแหตาข่ายที่จัดว่าเป็นลักษณะทางผิวหนังที่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค
6. ผื่นเส้นเลือดอักเสบ ลักษณะนูนม่วงแดง (Purpuric “Vasculitic” Pattern)
เกิดจากเส้นเลือดอักเสบ พบในผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรงมากที่มีอาการหลายระบบ พบได้ 6-8% เกิดหลังจะมีอาการค่อนข้างนานเป็นสัปดาห์ มักพบในผู้สูงอายุและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
7. อาการอื่น ๆ
เช่น อาการผิวหนังที่พบในผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรงมาก ได้แก่ ผมร่วง อาการแพ้สัมผัสจากการล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ผื่นแพ้ยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ Covid-19, ผื่นที่สัมพันธ์กับภาวะเครียดเช่น Seborrheic Dermatitis, สิวที่ขึ้นในบริเวณที่มีการใส่หน้ากาก (Perioral Acneiform Eruption)
Reference picture3
การดูแลรักษา เมื่อมีข้อสรุปจากแพทย์สหสาขา ว่ามีความเกี่ยวข้องทางผิวหนังในผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทางแพทย์ผิวหนังอาจจะทำการสะกิดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิเป็นการยืนยันถึงภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา และให้การรักษาทางผิวหนังตามภาวะที่เป็น โดยอาจจะเป็นลักษณะรักษาแบบประคับประคอง หรือเป็นลักษณะการรักษาโรคผิวหนังนั้น ๆ ควบคู่ไปกับการรักษาอาการติดเชื้อ แต่ผื่นในบางกรณีที่จัดเป็นอาการที่ไม่รุนแรง การวินิจฉัยทางคลินิคโดยแพทย์ก็จัดว่ามีความเพียงพอ และอาจให้การรักษาได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
กล่าวโดยสรุป อาการผื่นในผู้ติดเชื้อ Covid-19 แม้พบไม่บ่อย ประมาณ 6% แต่ ในผู้ป่วยเหล่านี้ มีถึง 10% ที่มาด้วยอาการผื่นอย่างเดียวนำอาการอื่น ๆ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก อาการลมพิษหรือผื่นผดแดงพบได้บ่อยที่สุด แต่ลักษณะไม่แตกต่างจากสาเหตุอื่น ดังนั้นควรสังเกตอาการอื่น ๆ ของ Covid-19 ร่วมด้วย เช่น น้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ท้องเสีย สำหรับผื่นประเภทตุ่มแดงที่นิ้วเท้าพบค่อนข้างจำเพาะต่อโรคโดยเฉพาะในคนที่อายุน้อย ควรเข้ามารักษา การเกิดผื่นชนิดเส้นเลือดอักเสบ สัมพันธ์ความรุนแรงของโรค ควรมีการเฝ้าระวังใกล้ชิด หากมีอาการผื่นต่าง ๆ ดังกล่าว แนะนำตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันภูมิแพ้ Samitivej Allergy Institute (SAI)
โรงพยาบาล BNH, สมิติเวชธนบุรีและสมิติเวชศรีราชา
แพทย์หญิงวีรุทัย สภานนท์
ศูนย์ผิวพรรณและความงาม, โรงพยาบาล BNH
วันที่ 6 พ.ค. 2564
References
- Jamshidi et al. Skin Manifestations in COVID-19 Patients: Are They Indicators for Disease Severity? A Systematic Review. Front. Med. 2021 8:634208. doi: 10.3389/fmed.2021.634208
- Mirza et al. Dermatologic manifestations of COVID-19: a comprehensive systematic review. International Journal of Dermatology 2021, 60, 418–450
- Genovese et al. Skin Manifestations Associated with COVID-19: Current Knowledge and Future Perspectives. Dermatology 2021;237:1–12. DOI: 10.1159/000512932